ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

Card image cap

ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุเป็นอย่างไร วิธีการสังเกตภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ และวิธีดูแลตนเองของผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น เป็นธรรมดาที่ร่างกายและจิตใจต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง การดูแลระวังสุขภาพจิตใจนั้นนับเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้สุขภาพร่างกาย ผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยสาเหตุของภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ เกิดขึ้นได้ทั้งจากสาเหตุทางด้านร่างกาย เช่น สารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ หรือความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดความเครียดตามมาจนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้า เช่น โรคเบาหวาน อัลไซเมอร์ หรือมะเร็ง ส่วนสาเหตุทางด้านจิตใจ ได้แก่ความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว เมื่อต้องอยู่เพียงลำพัง เมื่อคนรู้จักรอบตัวเริ่มหายหน้าหายตาไป หรือเสียชีวิต

ภาวะซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุเช่นเดียวกับผู้คนในวัยอื่นๆ ผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้ามีจำนวนมากถึงร้อยละ 10-20 ของจำนวนประชากร โดยมากเกิดขึ้นในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้แก่ความเครียด แพทย์หญิง ทิปภา ชุติกาญจน์โกศล แผนกอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลสมิติเวช ได้แนะนำวิธีการสังเกตภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ 6 ประการ ได้แก่

 

1) สภาวะทางอารมณ์เปลี่ยนไป จากเคยอารมณ์ดีกลับเปลี่ยนเป็นอารมณ์เสียง่าย จากเคยมีเหตุผลกลับกลายเป็นคนหงุดหงิดบ่อย ขี้บ่น หรือสนใจสิ่งที่เคยสนใจได้น้อยลงกว่าเดิม

2) ดูแลตัวเองน้อยลง เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ไม่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรม ไม่ทำในสิ่งที่เคยชอบ รู้สึกตัวเองไร้ค่า

3) มีปัญหาการนอนหลับ หลับๆ ตื่นๆ กลางดึกไปจนถึงนอนไม่หลับ

4) ความจำไม่ค่อยดี สมาธิสั้นลง

5) รู้สึกไม่ต้องการมีชีวิตอยู่แล้ว มีคำพูดหรือความคิดที่เป็นลบขึ้นบ่อยครั้ง เช่น “ไม่อยากอยู่แล้ว ตายไปได้ก็ดี”

6) เหนื่อยล้า รู้สึกไร้พลังงาน อ่อนเพลียไม่มีสาเหตุ

หากท่านเริ่มมีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ แต่หากท่านยังไม่มีภาวะซึมเศร้า ท่านสามารถดูแลตัวเองให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจด้วยหลัก 10 อ. ตามคำแนะนำของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แก่

1) อาหาร รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน เพื่อให้ห่างไกลโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน มะเร็ง

2) ออกกำลังกาย ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว

3) อนามัย หมั่นตรวจสอบร่างกายตนเอง พบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพอยู่เสมอ

4) อุจจาระ ปัสสาวะ ใส่ใจด้านการขับถ่ายเป็นพิเศษ หากมีปัญหาควรรีบพบแพทย์

5) อากาศ และแสงอาทิตย์ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้จิตใจไม่เกิดความเครียด

6) อารมณ์ รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ศึกษาการควบคุมอารมณ์ เช่น การเล่นโยคะ การทำสมาธิ

7) อดิเรก หางานอดิเรกทำเพื่อคลายเครียด และเพื่อให้ไม่ว่างจนเกิดความโดดเดี่ยว

8) อบอุ่น สร้างเสริมบุคลิกภาพโอบอ้อมอารี ใจเย็น เมตตา เพื่อให้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง

9) อุบัติเหตุ ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุอยู่เสมอ และ

10) อนาคต เตรียมการสำหรับอนาคตอย่างรอบคอบ เพื่อให้รับมือได้ทันเมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิด

 

อ้างอิง

 

https://allwellhealthcare.com/depression-elderly/

https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/ซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

https://www.thaihealth.or.th/Content/40299หลัก%2010%20อ.%20การดูแลตนเองของผู้สูงอายุ.html