ดนตรีสำหรับผู้สูงอายุ
ดนตรีสำหรับผู้สูงอายุ
ดนตรีมีประโยชน์ต่อผู้สูงอายุอย่างไร ผู้สูงอายุสามารถทำกิจกรรมเกี่ยวกับดนตรีอย่างไรได้บ้าง ผู้สูงอายุที่ต้องการเริ่มต้นใช้ดนตรีเพื่อการบำบัดควรทำอย่างไร
ดนตรีมีท่วงทำนองที่ช่วยชุบชูเยียวยาจิตใจผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย อายุไม่นับเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงดนตรีแต่อย่างใด ในทางกลับกัน ดนตรียังเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างยิ่ง แพทย์ประจำโรงพยาบาลผู้สูงอายุ และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เฌ้อสเซอรี่โฮม ได้กล่าวถึงประโยชน์ 5 ประการของดนตรีที่มีต่อผู้สูงอายุ ได้แก่
1) การสร้างความเพลิดเพลินและความสุขในชีวิต ผู้สูงอายุสามารถใช้เวลานั่งฟังบทเพลงได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพลงสุนทราภรณ์ หรือเพลงสมัยใหม่ การฟังเพลงย่อมให้รสอารมณ์สุนทรีย์ตามที่ผู้ฟังต้องการ
2) การกระตุ้นให้ร่างกายผ่อนคลาย มีชีวิตชีวา บทเพลงสนุกสนานสามารถสร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี
3) การสร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ เพลงสามารถสร้างแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่ฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรือเพลงใหม่ที่เพิ่งได้ฟัง ล้วนแล้วแต่สามารถมีส่วนสร้างความรู้สึกดีที่กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจใหม่ทั้งสิ้น
4) การระลึกถึงความทรงจำดีๆ ในอดีต บทเพลงสามารถเรียกเอาความทรงจำ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเนิ่นนานให้กลับมา
5) บทเพลงสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัวผ่านการส่งเพลงให้ฟัง รำลึกความหลังไปกับบทเพลง หรือนั่งฟังเพลงดีๆ ร่วมกัน
นอกจากประโยชน์ที่ได้กล่าวมานี้ ผู้สูงอายุที่ต้องการการบำบัดเป็นพิเศษยังสามารถใช้ดนตรีเพื่อประโยชน์ในการบำบัด เนื่องจากดนตรีสามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและความวิตกกังวลให้ลดลง ช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย มีทัศนคติที่ดีต่อผู้ดูแล และช่วยกระตุ้นให้เคลื่อนไหวมากขึ้น
ดนตรีสามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุได้ในหลายด้าน โดยผู้สูงอายุสามารถใช้ดนตรีให้เกิดประโยชน์ได้ในหลายวิธีด้วยกัน ทั้งการฟังดนตรี การร้อง การเล่นดนตรี และการเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับดนตรี อาจารย์สุกรี เจริญสุข ผู้บรรยายหัวข้อเรื่อง “ดนตรีสำหรับผู้สูงอายุ” ที่ได้รับเชิญโดยคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงกิจกรรมทางดนตรีที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ไว้ว่า ผู้สูงอายุสามารถฟังเพลงได้หลากหลาย ไม่มีสูตรสำเร็จใดกำหนดไว้ว่าดนตรีแบบใดที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เนื่องจากสำหรับผู้สูงอายุแล้ว ดนตรีนับเป็นอดีต เป็นสะพานที่จะพาให้ผู้สูงอายุหวนรำลึกไปในความหลัง ในความทรงจำที่มีเรื่องราวผูกพัน ผู้สูงอายุสามารถเลือกฟังเพลงที่ชอบได้ตามใจ
ในด้านการร้องเพลงและการดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการขับร้องหรือการเล่นเครื่องดนตรีล้วนช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถระบายอารมณ์ออกมาได้ และเป็นการฝึกสมาธิ เพิ่มทักษะความเชี่ยวชาญทางดนตรี ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้สูงอายุได้อีกด้วย หากผู้สูงอายุไม่มีพื้นฐานทางการเล่นดนตรีหรือขับร้องมาก่อน อาจต้องลงเรียนเพิ่มเพื่อฝึกฝน ในปัจจุบันมีโรงเรียนที่เปิดสอนการขับร้องและการเล่นดนตรีสำหรับผู้สูงอายุอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสอนโดยชุมชนผู้สูงอายุในแต่ละท้องที่ เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุด้านดนตรีไทยและด้านการสอนขับร้องเพลงไทย โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยโสธร หรือคอร์สเรียนดนตรี เปียโนผู้สูงอายุ โดย Thai Pianist
ส่วนการเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับดนตรี ผู้สูงอายุสามารถเลือกการเต้นที่มีจังหวะช้า เบา ผ่อนคลาย เช่นการเต้นลีลาศ ลีลาศสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุได้ฝึกสมอง ฝึกการทรงตัว และสร้างสมาธิได้เป็นอย่างดี ลีลาศยังเป็นการเต้นที่มีการจับคู่ ช่วยให้ผู้สูงอายุมีเพื่อนเพิ่มขึ้น นอกจากลีลาศแล้ว ผู้สูงอายุยังสามารถเลือกการเต้นประเภทอื่น เช่น การออกกำลังกายแอโรบิก หรือการออกกำลังกายแบบ Line Dance ที่ผสมผสานทั้งลีลาศและแอโรบิก
ไม่ว่าผู้สูงอายุจะเลือกทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับดนตรีอย่างไรก็ตาม ดนตรีล้วนสามารถมีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและจิตที่ดีขึ้น หากท่านต้องการใช้ดนตรีเพื่อการบำบัดเป็นพิเศษ ลองเริ่มต้นจากการเลือกเพลงที่ชอบ หรือเพลงบรรเลง เช่น เสียงฝน เสียงน้ำตก เพลงที่มีจังหวะช้าถึงปานกลาง ท่วงทำนองนุ่มนวล ระดับเสียงปานกลางจนถึงต่ำ ความเข้มของเสียงไม่มาก ไม่ดังจนเกินไป เพื่อให้ท่านสมารถผ่อนคลายไปกับบทเพลงได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
อ้างอิง
https://www.thaipost.net/main/detail/28318
https://www.goldenlifehome.com/2016/ดนตรีบำบัด/
https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_802129
https://siamrath.co.th/n/111327
https://www.thaipianist.com/elderly/
https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=28195
https://www.thaihealth.or.th/Content/36533-ลีลาศสุดผ่อนคลายเทรนด์ออกกำลังกายวัยเก๋า.html